ข่าวสาร
March 5, 2021
คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา จัดกิจกรรมแข่งขันการประกวดโครงงานนิสิตเพื่อต่อยอดสู่โครงงานนวัตกรรมภายใต้โครงการเสริมศักยภาพนิสิต ปีการศึกษา 2563 ในการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพและสร้างกลไกให้นิสิตนำความรู้ที่ได้จากการเรียนการสอนในศาสตร์แห่งวิศวกรรมกับพื้นฐานเทคโนโลยี มาประยุกต์และต่อยอดแนวคิดสู่การสร้างนวัตกรรมที่สามารถใช้งานจริงและเป็นประโยชน์ต่อชุมชน โดยมีนิสิตส่งโครงงานเข้าประกวด จำนวน 8 ทีม และมีโครงงานที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก จำนวน 5 ทีม เพื่อนำเสนอความเป็นไปได้ในการสร้างนวัตกรรม พร้อมค้นหาทีมที่จะผ่านการคัดเลือกในรอบที่สอง จากความก้าวหน้าในการสร้างชิ้นงานเพื่อนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกการแข่งขันฯ ได้มีการพิจารณาผลงานและคัดเลือกทีมที่ผ่านเข้ารอบสอง จำนวน 3 ทีม ได้แก่ 1. โครงงานการปรับปรุงเทคนิคเว็บสแครบปิ้งด้วยการเรียนรู้ของเครื่อง (An Enhancing Web Scraping technique using Machine Learning) จากนายทินภัทร รัตนาธรรม ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสารสนเทศศาสตร์ ร่วมกับ อาจารย์กาญจนา เอี่ยมสอาด ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อาจารย์ที่ปรึกษา 2. โครงงานการประยุกต์ใช้กระบวนการทางภาพและซอฟต์แวร์โรโบติก เพื่อนำเข้ารายจ่ายของธุรกิจร้านอาหารริมทาง (Apply an Image Processing and RPA to Import the Street Business expenditures) จากนางสาวฐปนรรฆ์ ด่านเสรี และนายณภัทร คุณาพรธีรกุล ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และสารสนเทศศาสตร์ ร่วมกับ อาจารย์กาญจนา เอี่ยมสอาด ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ อาจารย์ที่ปรึกษา 3. โครงงานมอเตอร์ไซด์ไฮบริด (Motorcycle Hybrid) จากนายชัยพร ราชพิทักษ์ นายณฤดล นามเมือง และนางสาวรอยพิมพ์ใจ ทวิชศรี ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกลและระบบการผลิต ร่วมกับ อ.ดร.อบ นิลผาย ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล อาจารย์ที่ปรึกษา โดยเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564 (วันนี้) รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา ได้มอบโอวาทและมอบเงินสนับสนุนแก่นิสิตทั้ง 3 ทีม ทีมละ 5,000 บาท เพื่อนำไปใช้สร้างนวัตกรรมสำหรับการนำเสนอรอบชิงชนะเลิศต่อไป
อ่านต่อ >>
March 3, 2021
คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา จัดโครงการปัจฉิมนิเทศนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชาและ ENG JOB FAIR 2021 ให้กับนิสิตชั้นปีที่ 4 (รหัสKU 77 ,E 73) ในรูปแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม Microsoft Team โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา เป็นประธานกล่าวเปิดงานและให้โอวาทแสดงความยินดีกับนิสิตชั้นปีที่ 4 ที่ใกล้จะสำเร็จการศึกษา พร้อมหัวหน้าภาควิชาและประธานหลักสูตร นอกจากนี้ ภายในงาน ยังได้มีการจัดเสวนาเรื่อง "รู้ก่อน พร้อมกว่า เตรียมตัวสู่การทำงานในยุคโควิด" โดยได้รับเกียรติจาก คุณจักริน บูรณะนิตย์ ประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เอ็ดไวซอรี่ จำกัด และคุณกุลนันท์ พันธุ์อนุกูล ที่ปรึกษาอาวุโส บริษัท เอ็ดไวซอรี่ จำกัด เป็นวิทยากรพิเศษ เพื่อแนะนำการเตรียมตัวและเตรียมความพร้อมเข้าสู่การทำงานในยุคโควิดให้กับนิสิต และกิจกรรม ENG JOB FAIR 2021
อ่านต่อ >>
February 15, 2021
ผู้บริหาร ม.เกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา พร้อมผู้แทนจาก EEC เข้าพบนายกเมืองพัทยา เพื่อนำเสนอและหารือความคิดเห็นและนโยบาย โครงการสาธิตการนำรถไฟฟ้าไปใช้เป็นระบบขนส่งสาธารณะอย่างสมบูรณ์แบบในพื้นที่ EEC (เมืองพัทยา) ดร.ไชยวัฒน์ กล่ำพล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา พร้อมรองศาสตราจารย์ ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุเทน สุปัตติ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และอาจารย์ณัฐพล บุณยภักดี ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา เดินทางเข้าพบนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา ประธานประชุม เพื่อนำเสนอโครงการสาธิตการนำรถไฟฟ้าไปใช้เป็นระบบขนส่งสาธารณะอย่างสมบูรณ์แบบในพื้นที่ EEC (เมืองพัทยา) (Korea-Thailand Eco-Friendly E-TukTuk in Pattaya) และนำเสนอการพัฒนาแพลทฟอร์มระบบขนส่งสาธารณะโดยใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับเมืองในเขตพื้นที่ EEC พร้อมรับฟังความต้องการ คิดเห็นและนโยบายในการสนับสนุนเพื่อปรับให้สอดคล้องต่อความต้องการของเมืองพัทยา โดยมีคณะผู้บริหารเมืองพัทยา หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 131 ศาลาว่าการเมืองพัทยา คณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชาได้มีความร่วมมือกับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ในการดำเนินโครงการสาธิตฯ ดังกล่าว เพื่อสร้างระบบสาธิตการใช้งาน ระบบขนส่งสาธารณะด้วยยานยนต์ไฟฟ้า ระบบบริหารจัดการใช้รถสาธารณะ ระบบอัดประจุ ระบบกักเก็บพลังงาน ระบบบริหารจัดการพลังงาน และระบบควบคุมติดตามจากส่วนกลาง เพื่อให้เมืองพัทยาเป็นเมืองต้นแบบในการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ สะอาด ไม่เกิดมลพิษ และมีความยั่งยืน นอกจากนี้ โครงการสาธิตฯ ดังกล่าวยังช่วยสนับสนุนให้เมืองพัทยาเป็นเมืองอัจฉริยะอย่างสมบูรณ์ โดยการนำรถตุ๊กๆและระบบขนส่งใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนเชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว ในการนี้ นายกเมืองพัทยาได้เสนอแนะให้ทางคณะจากวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย กลับไปศึกษาถึงผลกระทบต่อผู้ประกอบการเดิมที่ประกอบอาชีพอยู่ในพื้นที่ด้วย พร้อมทั้งเสนอแนะให้จัดตั้งคณะกรรมการฯ โดยเชิญเมืองพัทยาเข้าร่วมเพื่อนำเสนอข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการโครงการฯต่อไป สำหรับผู้เข้าร่วมหารือโครงการสาธิต ฯ จากหน่วยงานอื่นๆ ประกอบด้วย ดร.ธงชัย จินาพันธ์ ผู้แทนจากสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คุณนรวัฒน์ อาดัม ผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม คุณมนตรี เรืองสิงห์ ผู้แทนจากโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คุณกฤษณ์ ศุภคต รองผู้อำนวยการกองนวัตกรรม ฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และคุณวรรณนิภา พิภพไชยาสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาและชักจูงการลงทุนในอุตสาหกรรมตามยุทธศาสตร์ประเทศและกลุ่มประสานงานศูนย์เศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจฐานราก กองประสานและพัฒนาปัจจัยการลงทุน (กพท.) / Investment Ecosystem Division บีโอไอ สำนักนายกรัฐมนตรี
อ่านต่อ >>
February 11, 2021
กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการโทรทัศน์ (กตป.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) เพื่อนำผลประเมินสู่การพัฒนาสื่อโทรทัศน์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ดร.บัณฑิต ตั้งประเสริฐ กรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน ด้านกิจการโทรทัศน์ (กตป.) เป็นประธานเปิดการประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) โครงการติดตามและประเมินผล หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) ณ ห้อง พันธุม ดิษยมณฑล ชั้น 2 อาคารเคยูโฮม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน กรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการบังคับใช้หลักเกณฑ์ Must Carry ตลอดจนปัญหาที่เกิดกับการปฏิบัติ เพื่อเสนอแนะแนวทางการปรับปรุง และพัฒนาให้เหมาะสม สอดคล้องกับบริบทในกิจการโทรทัศน์แห่งประเทศไทย โดยมีผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการด้านสื่อ เครือข่ายผู้ชมโทรทัศน์ นักวิชาการ และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟัง และแสดงความคิดเห็น ดร.บัณฑิต กล่าวว่า นอกจากการจัดประชุมเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) แล้ว ยังมีกำหนดการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Hearing) เพื่อติดตามและประเมินผลหลักเกณฑ์ Must Carry ทั้ง 5 ภูมิภาค โดยเปิดให้ผู้ที่มีส่วนได้เสียในกิจการโทรทัศน์แสดงความคิดเห็นด้วย สำหรับข้อมูลที่ได้จากการประชุมในครั้งนี้ ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะรวบรวม ประมวลผล วิเคราะห์ และสรุปการศึกษา ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงผลการปฏิบัติงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และเลขาธิการ กสทช. ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน ของสำนักงาน กสทช. ในปี 2563 หลังจากนั้น กตป. จะนำรายงานเสนอต่อรัฐสภา เพื่อนำไปพัฒนาปรับปรุงโครงการให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์และบริบทของสื่อต่อไป
อ่านต่อ >>