depa ร่วมกับ ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผนึกกำลังสร้างบุคลากรด้าน Low Code รองรับปริมาณความต้องการของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในประเทศ โดยส่งเสริมให้เกิดการนำแพลตฟอร์ม Low Code / No Code ในชื่อ Mendix มาใช้ยกระดับความรู้และทักษะให้กับกำลังคน ก่อนผลักดันให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยตั้งเป้าสร้างกำลังคนดิจิทัลภายในปีแรกมากกว่า 100 คน และคาดว่าจะเพิ่มสู่ระดับพันคนภายในระยะเวลา 3 ปี พร้อมประเมินว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) พร้อมด้วย นายปนายุ ศิริกระจ่างศรี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TBN และ รศ.ดร.สถาพร เชื้อเพ็ง คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลและพัฒนาทักษะสู่ยุคดิจิทัล ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
ผศ.ดร.ณัฐพล เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญที่ depa ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องคือ การพัฒนากำลังคนสู่ยุคดิจิทัล โดยให้ความสำคัญกับการติดอาวุธให้กับประชาชนไทยอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมผ่านกระบวนการ Upskill, Reskill และ New Skill โดยความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้และทักษะด้านดิจิทัลให้กับประชาชนในทุกระดับ รองรับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการบุคลากรด้านดิจิทัลของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“สำหรับความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลและพัฒนาทักษะสู่ยุคดิจิทัลระหว่าง depa ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะช่วยยกระดับกำลังคนดิจิทัล (Digital Workforce) ด้าน Low Code ผ่านหลักสูตรและรับประกาศนียบัตรสากลของ Mendix Academy ก่อนผลักดันให้เกิดการจ้างงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลของประเทศ นำร่องด้วยการพัฒนาบุคลากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิทยาเขตศรีราชา ซึ่งถือเป็นพื้นที่เป้าหมายในการสร้าง Digital Workforce เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศดิจิทัลในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยภายในปีแรกตั้งเป้าพัฒนาบุคลากรดิจิทัลผ่านโปรแกรม Train the Trainer มากกว่า 100 คน และคาดว่าจะเพิ่มสู่ระดับพันคนภายในระยะเวลา 3 ปี นอกจากนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลื่อนให้การทำ Digital Transformation ในองค์กรเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมประเมินว่าจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศมากกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี” ผู้อำนวยการใหญ่ depa กล่าว
ด้าน นายปนายุ กล่าวว่า ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น คือผู้ออกแบบ พัฒนา และให้บริการแพลตฟอร์ม Low Code / No Code ในชื่อ Mendix รายแรกที่มีประสบการณ์มากที่สุดในประเทศไทย โดยบริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลที่เป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศที่จะขับเคลื่อนองค์กรและประเทศรองรับการแข่งขันในโลกยุคดิจิทัล ช่วยให้การทำ Digital Transformation ในองค์กรธุรกิจเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดย Mendix ถือเป็นแพลตฟอร์ม Low Code / No Code ชั้นนำของโลกในปัจจุบันและเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยสร้างกำลังคนดิจิทัลของประเทศ ซึ่งสามารถเรียนรู้ได้ภายในระยะเวลา 1 เดือน ก่อนพัฒนาทักษะเข้าสู่กระบวนการจ้างงานในอุตสาหกรรมดิจิทัลได้ทันที
“ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น มุ่งส่งเสริมการพัฒนาบุคลากร Low Code ในไทยเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้าน Low Code ของภูมิภาคผ่านการอบรมกับหลักสูตรมาตรฐานของ Mendix Academy และสามารถสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรระดับสากล ซึ่งจะช่วยสร้างแรงงานดิจิทัลที่มีศักยภาพก่อนป้อนเข้าสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมจริง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น กล่าว
ขณะที่ รศ.ดร.สถาพร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีนโยบายสำคัญในการพัฒนาบุคลากรและกำลังคนให้มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะ และความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) เพื่อรองกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในหลากหลายมิติ ขณะเดียวกันการเขียนโปรแกรมหรือแอปพลิเคชันผ่านแพลตฟอร์ม Low Code / No Code นับเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาทักษะดิจิทัลที่จะช่วยให้กำลังคนดิจิทัลสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานจำเพาะของตนเองหรือองค์กร ลดความซับซ้อนในการเขียนโปรแกรม และใช้เป็นเครื่องมือในการทำ Digital Transformation ให้กับองค์กร ส่งผลให้การทำงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นจึงเกิดเป็นความร่วมมือการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมดิจิทัลและพัฒนาทักษะสู่ยุคดิจิทัลระหว่าง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ depa และ ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับบุคลากรดิจิทัลผ่านการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะด้าน Low Code รองรับปริมาณความต้องการกำลังคนดิจิทัลในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงและมีประสิทธิภาพต่อไป” คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ศรีราชา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา กล่าว
ซึ่งภายใต้บันทึกความร่วมมือนี้ ทาง Depa ทีบีเอ็น คอร์ปอเรชั่น และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จะได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะด้าน Low-Code อย่างต่อเนื่องต่อไป